เมื่อพวกเรามาถึงเมืองมัณฑะเลย์ครั้งแรก ความรู้สึกที่มีต่อเมืองนี้เป็นเพียงอีกเมืองหนึ่งที่คล้ายย่างกุ้ง หลังจากที่พวกเราท่องเที่ยวไปตามสถานที่ต่าง ๆ ที่ทางโรงแรมบากานคิงจัดไว้ให้ พวกเรากลับใช้เวลาพักอยู่ที่นั้นถึง 3 วัน และเต็มไปด้วยความประทับใจอย่างมากมายต่อเมืองมัณทะเลย์
หากพิจารณาด้านภูมิประเทศ เมืองมัณฑะเลย์ตั้งอยู่บนที่ราบเชิงเขาและเนินเขามัณฑะเลย์นั้นเชื่อกันว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนา ในปลายทศวรรษ 1800 เนินเขานี้เป็นศูนย์กลางทางศาสนาโดยอาณาจักรแห่งเอวา ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำอิระวดี จึงเหมาะที่จะเป็นเมืองหลวงทางตอนเหนือของเมียนมาร์ในสมัยนั้น เพื่อเป็นจุดศูนย์กลางทางการค้า แหล่งอาหาร และศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งนั่นเอง
การท่องเที่ยวเชิงทัศนศึกษาที่ทางการท่องเที่ยวนำเสนอนั้น พวกเราได้กำหนดแผนการท่องเที่ยวสองสามแห่ง ที่คิดว่าน่าจะเป็นโอกาสที่ดีในการเรียนรู้วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ทิวทัศน์ และวิถีขีวิตของชาวเมืองมัณฑะเลย์ได้ดีที่สุดในเวลาอันจำกัด
เริ่มต้นก่อนรุ่งสาง
พวกเราเริ่มต้นวันแรกก่อนรุ่งสาง โดยการจ้างรถจักรยานสามล้อหรือที่เรียกว่า โทนเบน ผ่าน Grab ซึ่งจัดว่าสะดวกมาก การเดินทางไปถึงเชิงเขามัณฑะเลย์ทางตอนใต้สนนราคาที่ 3,000 จ๊าด เมื่อพวกเราไปถึงยังไม่มีผู้คนหรือนักท่องเที่ยวมากนัก การขึ้นไปบนยอดเขามัณฑะเลย์มีอยู่หลายวิธี โดยรถแท็กซี่ หรือรถจักรยานสามล้อรับจ้าง หรือบันไดเลื่อน หรือเดินขึ้นบันไดที่มี 1,700 ขั้น พวกเราตัดสินใจที่จะออกกำลังกายยามเช้าด้วยการเดินขึ้นบันได
เนื่องจากกฎระเบียบของสถานที่ไม่อนุญาตให้ใส่รองเท้า พวกเราจึงต้องถอดรองเท้าเก็บใส่ไว้ในกระเป๋า เมื่อเดินขึ้นไปได้ครึ่งทาง พวกเราพบพระพุทธรูปปิดทอง บะยาเด๊กเป ที่พระหัตถ์ชี้ไปยังพระราชวังมัณฑะเลย์ หลังจากนั้นเดินขึ้นไปอีกประมาณ 40 นาที พวกเราก็มาถึงเจดีย์แห่งหนึ่งที่สว่างไสวอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน นั่นคือเจดีย์ซูตองพญา
ผนังและเสาของเจดีย์ซูตองพญาปูด้วยกระเบื้องโมเสกมีลักษณะเหมือนกระจกเงาวาววับ เมื่อพระอาทิตย์ขึ้นมาอย่างช้า ๆ และฉายแสงสีทองมายังเจดีย์นี้ ทำให้พวกเราคิดว่าการเดินขึ้นเขาสูง 240 เมตรในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ยามเช้านี้นับเป็นการตัดสินใจที่ดีที่สุดของพวกเราในวันนั้น
โชคดีที่ท้องฟ้าแจ่มใส พวกเราได้ชมวิวจากมุมสูงของเมืองมัณฑะเลย์จากที่นี่ เป็นจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นที่ยอดเยี่ยมมาก บนเขามัณฑะเลย์จะไม่แออัดด้วยผู้คนในยามรุ่งสาง และในบรรยากาศที่สุขสงบเช่นนี้ พวกเราได้เห็นผู้คนที่อยู่เบื้องล่างออกจากบ้านเรือน การจราจรค่อย ๆ เริ่มขึ้น และเห็นเมืองมัณฑะเลย์กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งของวันใหม่
ขากลับลงมาจากเขา พวกเราจ้างจักรยานสามล้อผ่าน Grab เพื่อที่จะไปยังเจดีย์กุโสดอร์ต่อ สถานที่แห่งนี้มีชื่อเสียงจากการเป็นสถานที่จัดเก็บพระไตรปิฎกที่ใหญ่ที่สุดในโลกในรูปแบบของแผ่นหินอ่อน 729 แผ่นที่จารึกคำสอนของพระพุทธเจ้าไว้ทั้งสองด้าน แต่ละแผ่นถูกจัดเก็บไว้ในมณฑปสีขาว ทำให้เกิดเป็นมณฑปสีขาวยอดแหลมสีทองจำนวน 729 องค์ที่จัดวางอย่างวิจิตรตระการตารายล้อมองค์เจดีย์หลัก โดยเฉพาะเมื่อมองจากด้านบนของเชิงเขา พวกเราได้เห็นกลุ่มเจดีย์เหล่านี้เมื่อไปถึงเนินเขามัณฑะเลย์และรู้สึกตื่นตาตื่นใจอย่างมาก เพราะไม่เคยพบเห็นอะไรอย่างนี้มาก่อน
เจดีย์ที่อยู่ใกล้เคียงกันนั้นเรียกว่าเจดีย์สัณฑมุนี เป็นเจดีย์ที่มีอายุน้อยกว่า 20 ปี และมีสีที่ขาวใหม่มองดูกว่าเจดีย์กุโสดอร์ แผ่นหินอ่อน 1,774 แผ่นถูกบรรจุไว้ในเจดีย์ที่มีขนาดเล็กนี้ เจดีย์สัณฑมุนีมีลักษณะเหมือนกับเจดีย์กุโสดอร์แต่ขนาดเล็กกว่า และเป็นที่นิยมน้อยกว่าเจดีย์กุโสดอร์ พวกเราค้นพบเจดีย์นี้โดยบังเอิญหลังจากออกจากเจดีย์กุโสดอร์ผ่านประตูทางทิศใต้แล้วเลี้ยวขวา
แม้ว่าสถูปทั้งหลายในเจดีย์สัณฑมุนีจะตั้งอยู่อย่างหนาแน่นในพื้นที่ขนาดเล็กกว่า แต่ก็มีความเงียบสงบ เดินจากที่นั่นประมาณ 5 นาทีก็มาถึงวัดชเวนันดอ ซึ่งเป็นอาคารไม้สักที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้อย่างดีและรอดพ้นจากการถูกทำลายในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2
วัดชเวนันดอ มีความสวยงามอย่างมากโดยเฉพาะผู้ที่รักในงานศิลปะ ผนังด้านในและด้านนอกทุกตารางนิ้ว ประดับประดาด้วยงานแกะสลักที่วิจิตรบรรจง ถือเป็นสุดยอดงานแกะสลักไม้ของชาวเมียนมาร์ แผงไม้ภายในวัดเต็มไปด้วยภาพแกะสลักพรรณนาถึงพระชนม์ชีพในสมัยก่อนของพระพุทธเจ้าได้รับการอนุรักษ์ไว้อย่างดียิ่ง
ย้อนมาเยือนอดีตที่รุ่งเรือง
เมื่อชื่นชมความงดงามของวัดชเวนันดอจนเป็นที่พอใจแล้ว พวกเราก็เดินทางต่อโดยรถจักรยานสามล้อไปยังพระราชวังมัณฑะเลย์ซึ่งอยู่ห่างไปเพียง 10 นาทีเท่านั้น พระราชวังนี้เปรียบเสมือนเป็นหัวใจของมัณฑะเลย์ ตั้งอยู่บนพื้นที่สี่ตารางกิโลเมตร ล้อมรอบด้วยคูน้ำและมีทางเข้าออกแต่ละด้าน โดยนักท่องเที่ยวสามารถเข้าชมพระราชวังได้จากทางเข้าด้านตะวันออกเท่านั้น
พระราชวังมัณฑะเลย์ในปัจจุบันเป็นอาคารที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ในช่วงทศวรรษ 1990 เนื่องจากพระราชวังเก่านั้นได้รับความเสียหายจากไฟไหม้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 พระราชวังเดิมถูกสร้างขึ้นโดยกษัตริย์มินดง เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของเมืองมัณฑะเลย์ในฐานะเมืองหลวงของเมียนมาร์ในปี พ.ศ. 2400 อย่างไรก็ตาม ความรุ่งเรืองของอาณาจักรพระองค์ไม่ยั่งยืนนานนักเมื่อจักรวรรดิอังกฤษบุกรุกเมียนมาร์และยึดครองประเทศในปี พ.ศ. 2428
ดังนั้นพระราชวังมัณฑะเลย์จึงถือเป็นที่ประทับของราชวงศ์กษัตริย์องค์สุดท้ายของเมียนมาร์ก็ว่าได้ ปัจจุบันนักท่องเที่ยวได้รับอนุญาตให้เดินชมพระราชวังตามทางเดินที่กำหนดไว้เท่านั้น เนื่องจากพื้นที่อื่น ๆ นั้นเป็นเขตหวงห้ามทางการทหาร พวกเราเห็นป้ายขนาดใหญ่ เขียนเตือนว่าห้ามเดินออกนอกเส้นทางที่กำหนดไว้
ถึงแม้ว่า การบูรณะพระราชวังขึ้นมาใหม่นั้นจะพยายามใช้เทคนิคและการออกแบบที่ยังคงความดั้งเดิมเอาไว้อย่างมากก็ตาม แต่พระราชวังยังคงได้รับอิทธิพลแบบอาคารสมัยใหม่ พวกเราเดินชมไปรอบ ๆ ชื่นชมกับตัวอาคารเหล่านี้สักระยะหนึ่งหลังจากนั้นก็มุ่งหน้าไปที่ร้านอาหาร Mingalabar เพื่อรับประทานอาหารมื้อแรกของพวกเราในวันนั้น
ร้านอาหารแห่งนี้ได้รับการความนิยมเป็นอย่างมากทั้งในหมู่คนต่างชาติและคนท้องถิ่น เนื่องจากมีอาหารหลากหลายเมนูและรสชาดที่เข้มข้นจัดจ้าน หนึ่งในเมนูอาหารยอดนิยมที่ต้องมาชิมให้ได้เมื่อมาเมียนมาร์คือแกงหมูกับมะม่วงแห้ง เนื้อหมูที่ชุ่มฉ่ำตุ๋นในน้ำเกรวี่ที่มีรสชาดเปรี้ยวจัดจ้านจากกระเทียมเป็นที่ยอมรับว่าสุดยอดมาก
หลังจากเที่ยวชมเมืองเพียงครึ่งวัน พวกเราต่างก็ตกหลุมเสน่ห์ของมัณฑะเลย์ราวกับต้องมนต์